DMT ปักธงเป้าปีกระต่ายทองรายได้โตเกิน 30% ปริมาณจราจรคึกคัก-นักท่องเที่ยวจีนหนุนเตรียมทุ่มงบกว่า 434 ลบ.ในงานด้านเทคโนโลยี งานโครงการต่างๆและบำรุงทางยกระดับ
บมจ.ทางยกระดับดอนเมือง (DMT) ปักธงเป้าปีกระต่ายทอง รายได้โตเกิน 30% หลังปริมาณจราจรคึกคัก คาดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 85,000 คันต่อวัน ปัจจัยเปิดรับนักท่องเที่ยวจีนหนุน พร้อมเปิด 7 กลยุทธ์ เพื่อขับเคลื่อนตามแผนธุรกิจปี 2566-2570 อาทิ Safer Road Traffic Management/ Maintenance กลยุทธ์เติบโตไปด้วยกัน Inclusive Growth กลยุทธ์พัฒนาธุรกิจอื่น Other Non-Toll เป็นต้น เพื่อสร้างความยั่งยืน เผยทุ่มงบกว่า 434 ล้านบาท ในงานด้านเทคโนโลยี งานโครงการต่างๆ และบำรุงทางยกระดับ พร้อมย้ำความพร้อมเข้าประมูล 3 โครงการ ได้แก่M5, M82 และสายกะทู้ – ป่าตองจังหวัดภูเก็ต
นายธานินทร์ พานิชชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (DMT) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปี 2566 บริษัทฯตั้งเป้ารายได้เติบโตเกิน 30% จากปีก่อน เนื่องจากคาดการณ์ปริมาณการจราจรเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 110,000 คันต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณการจราจรเฉลี่ยอยู่ที่ 85,000 คันต่อวัน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวเป็นการคาดการณ์จากปริมาณจราจรที่เกิดขึ้นจริงในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้น จะทำให้ปริมาณการเดินทางโดยรวม และการเดินทางของสนามบินดอนเมืองที่ติดกับทางยกระดับดอนเมือง มีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ นอกจากนี้ ยังมองว่าปีนี้ไม่มีปัจจัยลบแบบในปี 2563-2564 เรื่องการจำกัดการเดินทางและการล็อคดาวน์
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้จัดทำกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ในแผนธุรกิจเพื่อความยั่งยืนปี 2566-2570 แบ่งออกเป็น7 ด้าน ประกอบด้วย 1.กลยุทธ์ Safer Road Traffic Management/ Maintenance เป็นกลยุทธ์หลักที่ส่งเสริมความโดดเด่นของการเป็นผู้ให้บริการ O&M ทางยกระดับ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัท ที่ต้องทำให้เกิดความ สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ
2.กลยุทธ์เติบโตไปด้วยกัน Inclusive Growth เป็นกลยุทธ์ที่สร้างความเข้มแข็งขององค์กรในด้านการบริหารการจัดการต้นทุนการดำเนินงาน ทั้งในด้านต้นทุนบริการและต้นทุนทางการเงิน เพื่อสร้างโอกาสในการแข่งขัน และดึงดูดพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อต่อยอดไปยังโครงการทางด่วนใหม่ๆ และเติบโตไปด้วยกัน
3.กลยุทธ์พัฒนาธุรกิจอื่น Other Non-Toll เป็นกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมและแนวคิด ซึ่งจะนำไปสู่ธุรกิจอื่นๆ และแหล่งรายได้ใหม่ๆ ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับทางด่วน เช่น การร่วมจัดตั้งบริษัท ร่วมกับ บริษัทHanshin Expressway (HEX) จากประเทศญี่ปุ่น หรือ การศึกษาโครงการอื่นๆ นอกเหนือจากทางด่วนเช่น Start up ต่างๆ จากความชำนาญและเชี่ยวชาญของฝ่ายบริหารและร่วมกันขับเคลื่อนจากบุคลากรภายในองค์กร 4.กลยุทธ์ความยั่งยืน ESG เป็นกลยุทธ์หลักในการขับเคลื่อนธุรกิจขององค์กร ในการส่งมอบคุณค่าให้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคมและ กำกับดูแลกิจการ ซึ่ง เป็นการดำเนินโครงการด้านสิ่งแวดล้อมพลังงาน และการลดก๊าชเรือนกระจก โดยมีเป้าหมายหลักเป็นการขับเคลื่อน ESG-In-Process เพื่อการจัดการและประสิทธิภาพสูงสุด
5.กลยุทธ์ HPO Resilience Management เป็นกลยุทธ์หลักในการพัฒนาศักยภาพขององค์กร และบุคลากร ให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และ ปัจจัยโดยรอบ ซึ่งจะทำให้องค์กรขับเคลื่อนไปได้อย่างคล่องแคล่ว และ สามารถขยายโอกาสต่างๆได้อย่างรวดเร็ว 6.กลยุทธ์ DMT Excellence Recognition เป็นกลยุทธ์ที่สร้างการรับรู้ความเชี่ยวชาญและผลงานขององค์กร ผ่านการรับรองจากหน่วยงานภายนอก และ สร้างความเชื่อมั่นต่อหน่วยงานเจ้าของสัมปทานคือ กรมทางหลวง ที่จะทำให้องค์กร มีความโดดเด่น และสามารถเป็นตัวเลือกในการให้บริการสัมปทานต่อเนื่องและสัมปทานโครงการใหม่อื่นๆ และ 7.กลยุทธ์การบริหารเงินสดและต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เป็นกลยุทธ์ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยบริหารกระแสเงินสดที่บริษัทได้รับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ลดความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย อีกทั้งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทต่ำลง และบริหารต้นทุนในทุกๆ ด้านให้มีประสิทธิภาพ
ดร.ศักดิ์ดา พรรณไวย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) (DMT) เปิดเผยว่า สำหรับงบลงทุนในปีนี้อยู่ที่ จำนวน 434 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ได้แก่ 1.การศึกษาวิจัยในงานเทคโนโลยีทางยกระดับ และการศึกษางานในโครงการต่างๆ ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ 2.การลงทุนจัดซื้อทางด้านเทคโนโลยีทรัพย์สินใหม่ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการดำเนินงานลดลง และ 3.การดำเนินงานบำรุงทางยกระดับ ตามแผนงาน ซึ่งสอดคล้องกับหลักวิศวกรรม
กรรมการผู้จัดการ DMT กล่าวอีกว่า บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมครบทุกด้านทั้งด้านการเงิน การระดมทุน เป็นต้น ในการเข้าร่วมประมูลสำหรับ 3 โครงการ โดยมีความคืบหน้าดังนี้ 1.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุขช่วงรังสิต – บางปะอิน (M5) ระยะทาง 22 Km มูลค่า39,956 ล้านบาท โดยปัจจุบัน กรมทางหลวงอยู่ระหว่างการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาและนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) รวมทั้งคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (บอร์ดพีพีพี) ภายในเดือน ก.พ. 2566 ก่อนเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน มี.ค. 2566 ครม. และจัดตั้งคณะกรรมการมาตรา 36 เพื่อจัดทำร่างข้อเสนอ (RFP) และคาดว่าจะเปิดประมูลคัดเลือกเอกชน ช่วงปลายปี 2566 เริ่มก่อสร้างปี 2567-2570 โดยจะเปิดให้บริการปี 2571
2. โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางขุนเทียน - บ้านแพ้ว (M82) ระยะทาง 24.7 Km มูลค่า45,730 ล้านบาท ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบรูปแบบการร่วมลงทุน (PPP) แล้วเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2565 โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Gross Cost ระยะเวลาสัญญา 32 ปี (ก่อสร้าง 2 ปี และ O&M 30 ปี) คาดว่าจะเปิดคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนได้ภายในกลางปี 2566 และเริ่มก่อสร้างติดตั้งงานระบบช่วงแรกภายในปลายปี 2566 โดยคาดจะแล้วเสร็จเปิดบริการเต็มรูปแบบตลอดทั้งสายพร้อมงานระบบเก็บเงินค่าผ่านทางได้ในปี 2568
3.โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตองจังหวัดภูเก็ตระยะทาง 4 Km มูลค่า 14,177 ล้านบาท ซึ่งการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้เปิดขายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) ตั้งแต่วันที่ 26 ธันวาคม 2565 ถึงวันที่ 25 มกราคม 2566 โดยมีกำหนดการยื่นเอกสารวันที่ 7 เมษายน2566 เปิดซองเอกสารข้อเสนอ 28 เมษายน 2566 โครงการจะเริ่มก่อสร้างปี 2567-2570 โดยจะเปิดให้บริการปี 2571 ซึ่งบริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำ Feasibility โครงการ เพื่อพิจารณาการเข้าร่วมการประมูลต่อไป